- สัญลักษณ์การแข่งขัน -





ผู้ออกแบบ : อาจารย์นนท์วริศ เกียรติศรุตสกุล
ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี


ที่มา :

ต้นอรพิม หรือ ต้นคิ้วนาง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของเมืองไทย ดอกมี 5 กลีบและเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ซึ่งดอกอรพิม หรือ ดอกคิ้วนาง มักจะชูช่อที่ยอดเถา ทำให้มีคำกล่าวที่ว่า “ดอกคิ้วนาง ไม่เคยเบ่งบานใต้ร่มเงาใคร” ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้ดอกอรพิม หรือ ดอกคิ้วนาง ที่มีสีของกลีบดอกและสีของเกสรเป็นสีประจำโรงเรียนต่าง ๆ เป็นดั่งตัวแทนของนักกีฬาจากทุกโรงเรียนที่มีความพยายามและมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองโดยมีเป้าหมายคือชัยชนะและความสามัคคีของพวกเราชาวสาธิตราชภัฏที่ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน มีมิตรภาพที่เบ่งบานเหมือนดอกอรพิม ดังนั้น การแข่งขันกีฬาสาธิตราชภัฏสัมพันธ์ครั้งที่ 34 จึงใช้ชื่อว่า “ช่ออรพิมเกมส์”

สัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาสาธิตราชภัฏสัมพันธ์ครั้งที่ 34 มีรูปสะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นดั่งตัวแทนของจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และสะพานข้ามแม่น้ำแควยังได้รับการยกย่องให้เป็น “สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ” สร้างขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก ไปเมืองธันบูซายัต ประเทศพม่า กองทัพญี่ปุ่นเลือกสร้างสะพานข้ามน้ำแควใหญ่ที่บริเวณบ้านท่ามะขาม (สมัยนั้นเรียกว่าบ้านท่าม้าข้าม) ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2486 ภายหลังสงครามโลกยุติลง รัฐบาลไทยได้ซื้อทางรถไฟนี้ต่อจากอังกฤษ แล้วบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2489